คลังเก็บหมวดหมู่: สุขภาพ

งบสร้างเสริมสุขภาพ

ถกด่วน ร่างพระราชกฤษฎีกาใช้งบสร้างเสริมสุขภาพ

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.

แถลงความคืบหน้าให้ผู้มีสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ ใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบ สปสช. โดย นพ.โอภาสกล่าวว่า งบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง วงเงินรวมทั้งหมด 204,140.03 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค (PP) ประมาณ 10% หรือ 21,381.11 ล้านบาท แยกเป็น งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนในสิทธิ บัตรทอง 16,235.07 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 5,146.04 ล้านบาท หรือ 2.5% เป็นงบฯสำหรับสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มประชาชนสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาอาจไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ทำให้ต้องมีการชะลอการจัดสรรงบประมาณเฉพาะส่วนนี้ แต่ยืนยันว่าประชาชนทุกคนทุกสิทธิยังสามารถเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้ ส่วนการออกเป็นพระราชกฤษฎีกานั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ และเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 3 กองทุนสามารถทำงานร่วมกันได้

งบสร้างเสริมสุขภาพ

ด้าน นพ.จเด็จกล่าวว่า สปสช.ได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) สำหรับการใช้งบประมาณส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จำนวน 6 ฉบับตาม กลุ่มของประชาชนที่ได้รับสิทธิ โดยในวันที่ 9 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษเร่งด่วน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอร่างฯ ให้ รมว.สธ. เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป.

ข่าวสุขภาพเพิ่มเติม : แพทย์เตือน กินอาหารไขมันสูง เสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี”

สุขภาพ

แพทย์เตือน กินอาหารไขมันสูง เสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี”

แพทย์เตือน กินอาหารไขมันสูง เสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี”

สุขภาพ

หมอแล็บแพนด้าเตือน คนที่ชอบกินอาหารมันๆ เสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี” และผู้หญิงเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย 1-2 เท่า

เฟซบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า ของ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ระบุถึงสาเหตุและความเสี่ยงของโรคนิ่วในถุงน้ำดี พร้อมวิธีป้องกันเอาไว้ ดังนี้

หน้าที่ของถุงน้ำดี
ถุงน้ำดี คืออวัยวะที่อยู่แถวๆ ช่องท้อง รูปร่างเป็นกระเปาะ มันคือถุงพักน้ำดีหรือถุงที่กักเก็บน้ำดี

ตับคืออวัยวะสำคัญที่สร้างน้ำดี แล้วนำไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี เมื่ออาหารที่เรากินผ่านมาถึงลำไส้เล็ก ถุงน้ำดีจะปล่อยน้ำดีที่เข้มข้นเพื่อช่วยลำไส้เล็กทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร

กินอาหารไขมันสูง เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี
คนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่ ชอบกินอาหารมันๆ อาหารที่คอเลสเตอรอลสูงๆ ทำให้มีปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงมากกว่าปกติไปด้วย น้ำดีก็เลยข้นมากและเต็มไปด้วยคอเลสเตอรอล พอข้นมากขึ้นๆ ก็เลยตกผลึกและมีแคลเซียม (หินปูน) มาช่วยซ้ำเติมเรา มันมาจับตัวกับคอเลสเตอรอลกลายเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งอาจเป็นก้อนเดียว หรือเป็นหลายๆ ก้อนก็ได้

ใครๆ ก็เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี
โรคนิ่วในถุงน้ำดีนี้ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นได้ครับถ้าเรายังตามใจปาก และเลือกกินแต่เมนูมันๆ ที่ให้ไขมันสูง ยิ่งกินก็ยิ่งปวด เพราะถุงน้ำดีมันหวังดีอยากบีบน้ำดีไปช่วยย่อยอาหาร ถ้ามีอาการรุนแรง ปวดจุก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย จนทำให้ปวดท้องต่อเนื่องนานๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ถุงน้ำดีเกิดการอักเสบ และต้องรักษาอาการด้วยการผ่าตัด

กลุ่มเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดี มักเป็นในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 1-2 เท่า มักเป็นในคนที่มีภาวะอ้วน คนที่ชอบกินอาหารไขมันสูง เบาหวาน หรือกินฮอร์โมนที่มีผลต่อการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี

ดังนั้น เราก็เลยสามารถลดปัจจัยเสี่ยงของโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ ด้วยการกินแต่พอดีตามหลักโภชนาการ นอนหลับแต่พอเพียง ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง คุมปริมาณน้ำตาลและไขมันในกระแสเลือดอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

ติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : กลุ่มสเปเชี่ยลตี้ SNPS รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมสุขภาพ

สุขภาพ

กลุ่มสเปเชี่ยลตี้ SNPS รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมสุขภาพ

กลุ่มสเปเชี่ยลตี้ SNPS รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตอบโจทย์ผู้ประกอบการด้วยมาตรฐานการผลิตพร้อมส่งออกระดับสากล

ในปีที่ผ่านมา ตลาดสุขภาพและความงามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างบริษัทสเปเชี่ยลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด(SNPS) ผู้นำในการสกัดสารสกัดสมุนไพรไทยที่มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน

และอุตสาหกรรมกลางน้ำอย่าง บริษัทสเปเชียลตี้ อินโนเวชั่น จำกัด (SI) โรงงานรับพัฒนาสูตรและผลิต ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์โภชนเภสัช/อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ยาพัฒนาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์/เครื่องมือทางการแพทย์ภายใต้แบรนด์ลูกค้า

มีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนความต้องการจากลูกค้าต่างชาติ ลูกค้าที่ต้องการส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ ทั้งฝั่งเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกมีความต้องการการสนับสนุนในแง่ของความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ความยืดหยุ่นในด้านกำลังการผลิต และการปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อประกอบการจำหน่ายหรือขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ หนึ่งในมาตรฐานหลักในการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศสำหรับโรงงานคือ GMP (Good Manufacturing Practice) ระบบที่ทำให้มั่นใจว่าสินค้ามีการผลิตและควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นมาตรฐานทั่วไป (General GMP) และยังมีการมาตรฐานเฉพาะสำหรับบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Specific GMP) อย่าง GMP Cosmetics สำหรับเครื่องสำอาง, GHPs สำหรับอาหาร, GMP PIC/s สำหรับยา

สุขภาพ

กลุ่มสเปเชี่ยลตี้ SNPS ในฐานะโรงงานผู้ผลิตได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP ทั่วไปและ GMP เฉพาะครอบคลุมทุกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ที่โรงงานมีศักยภาพในการผลิตและยังได้รับการรับรองโดยมาตรฐานระดับสากล ดังต่อไปนี้

  • ISO9100 : 2015 ระบบจัดการคุณภาพขององค์กรทำให้มั่นใจได้ว่าองค์กรสินค้าและบริการที่ส่งมอบมีการผลิตตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล
  • ISO22716 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติที่ดี (GMP) ในการผลิตเครื่องสำอาง แนวทางการปฏิบัติสำหรับมาตรฐานนี้ได้รับการอนุมัติและยอมรับโดยหน่วยงานกำกับดูแลระดับสากลหลายแห่ง เช่น สมาชิกการประชุมความร่วมมือกฎระเบียบเครื่องสำอางระหว่างประเทศ (ICCR) ที่มีสมาชิกสำคัญอย่างบราซิล สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ใต้หวัน และเกาหลีใต้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) และมาตรฐานของคณะกรรมการยุโรปด้านการมาตรฐาน (CEN)
  • GHPs (Good Hygiene Practices) มาตรฐานที่ควบคุมตลอดห่วงโซ่อาหารหรือที่เรียกกันว่า Farm to fork เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นได้ว่ามีการควบคุมตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก กระบวนการผลิตจนเป็นผลิตภัณฑ์ถึงผู้บริโภคมีการดำเนินการที่เป็นไปตามมาตรฐาน มีระบบจัดการความปลอดภัยของอาหารวิเคราะห์จุดอันตราย และจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมซึ่งเป็นไปตาม HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point System)
  • FSSC22000 ระบบมาตรฐานการรับรองความปลอดภัยสำหรับการผลิตอาหาร ครอบคลุมข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO22000 และยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติม ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับโดย GFIS (Global Food Safety Initiative) และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
  • LEED Gold บริษัทสเปเชียลตี้ อินโนเวชั่น (SI) ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED Gold เป็นรายแรกของประเทศไทย ก่อสร้างโรงงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังได้รับการรับรองว่าเป็น Green Health & Beauty Factory จากประเทศสหรัฐอเมริกา
  • HALAL เครื่องหมายผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนาอิสลามให้สามารถบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้
  • ECOCERT COSMOS NATURAL เครื่องหมายการันตีผลิตภัณฑ์ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ
  • ECOCERT COSMOS ORGANIC เครื่องหมายการันตีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่เป็นออร์แกนิกมากกว่า 95% จากพืชที่เป็นส่วนประกอบ และมากกว่า 20% ของส่วนประกอบทั้งหมด
    มาตรฐานต่างๆถือเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตสินค้าเป็นข้อกําหนดขั้นพื้นฐานที่มีความจําเป็นในขั้นตอนการผลิตและควบคุมคุณภาพและถือเป็นใบเบิกทางให้กับลูกค้าในการส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกตามความมุ่งมั่นของกลุ่มบริษัทสเปเชี่ยลตี้ในการผลักดันและเพิ่มศักยภาพของสมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยไปสู่ระดับสากล

ติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : ตรวจคัดกรอง “มะเร็งปากมดลูก” วิธีใหม่ ทำเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง

สุขภาพ

ตรวจคัดกรอง “มะเร็งปากมดลูก” วิธีใหม่ ทำเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง

แพทย์เผยนวัตกรรม ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ (HPV DNA) 

สุขภาพ

แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง หวังเพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้หญิง กระตุ้นเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ไม่พบเชื้อวันนี้ อีกห้าปีค่อยมาตรวจอีกครั้ง

ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองได้ในโรงพยาบาล เพิ่มทางเลือกใหม่ในการตรวจฯ ลดปัญหาความกังวลใจด้านต่างๆ อาทิ กลัวเจ็บ อายแพทย์ ตลอดจนความกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยันสิทธิ์หลักประกันสุขภาพครอบคลุมการตรวจ รักษา มั่นใจแนวคิดตรวจพบ (เชื้อเอชพีวี) เร็ว สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกและเสียชีวิตได้

นายแพทย์ปิยวัฒน์ เลาวหุตานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรีและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยานรีเวช เผยว่า แม้มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในเพศหญิงตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา และพบมากเป็นอันดับ 5 ของมะเร็งในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด แต่เป็นหนึ่งในไม่กี่มะเร็งที่ป้องกันได้ หากได้รับการตรวจคัดกรองฯ อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ โดยมะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี และมีระยะเวลาการดำเนินโรค 10 ปี ตั้งแต่ได้รับเชื้อและมีการเปลี่ยนแปลงของเซลส์ จนกระทั่งพัฒนาเป็นมะเร็ง

“ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจากการคาดการณ์จำนวน 5,422 ราย ในปี 2017 และลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง 5,320 ราย ในปี 2020 ปัจจุบัน อุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน แต่องค์การอนามัยโลกอยากให้ทุกประเทศลดอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกเป็น 4 ต่อ 100,000 คน

“ดังนั้น ประเทศไทยยังคงต้องดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างเข้มข้น รวมกับการฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงละเลย ไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาทิ ไม่รู้ว่ามะเร็งปากมดลูก ซึ่งเกิดจากเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์เสี่ยงสูง (สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18) หากตรวจพบเชื้อเร็วก็สามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่เชื้อดังกล่าวจะทำให้เซลส์ผิดปกติ และพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

“นอกจากนั้น ยังเกิดจากเหตุผลส่วนตัว เช่น กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ อายแพทย์ และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ และรักษาหากพบว่าเป็นมะเร็ง เป็นต้น ทำให้หลายคนเข้ารับการตรวจเมื่อมีอาการ และพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ซึ่งน่าเสียดายหากผู้ป่วยเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวีอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ในที่สุด

เมื่อมีการเพิ่มทางเลือกในการตรวจให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ด้วยการเปิดโอกาสให้สามารถเลือกเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อเอชพีวี ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งต่างจากการตรวจแบบ แปปสเมียร์ ที่เป็นการตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ ซึ่งต้องรอให้เซลล์ผิดปกติไปแล้วจึงจะตรวจพบ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มความสบายใจในการเข้ารับการตรวจให้แก่ผู้ป่วยได้ และจะสามารถวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที”

ดร.ศุลีพร แสงกระจ่าง รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยมีนโยบายและการวางแผน การให้บริการและรักษา ตลอดจนระบบสุขภาพ และการสนับสนุนการรักษาโรคมะเร็งจากรัฐบาลดีอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก

การนำนวัตกรรมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ถือเป็นหนึ่งใจความตั้งใจพยายามผลักดันให้ประชาชนตระหนัก และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนเห็นความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรอง รวมถึง สิทธิการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของสถาบันฯ พร้อมกล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการว่า มุ่งเน้นการตรวจ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ทั่วประเทศ

“สำหรับการตรวจวินิจฉัยเชื้อยังต้องดำเนินการโดยนักเทคนิคการแพทย์ตามแนวเวชปฏิบัติ ในห้องปฏิบัติการหรือห้องแล็บเท่านั้น แต่จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกให้แพทย์เป็นผู้เก็บตัวอย่างให้เช่นเคย หรือจะเลือกเก็บตัวอย่างเองก็ได้ ซึ่งต้องทำในสถานพยาบาลเท่านั้น

“โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำวิธีการเก็บตัวอย่างตามคู่มือการใช้งานอย่างละเอียดและถูกต้อง โดยให้ผู้ป่วยทำการสวอบตัวอย่างทางช่องคลอดด้วยไม้สวอบตามคำแนะนำในห้องน้ำ ก่อนจะนำผลที่ได้ใส่ในกล่องเก็บสิ่งส่งตรวจให้เจ้าหน้าที่ทำการวิเคราะห์ผลตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อทราบผลการตรวจคัดกรองฯ จากแพทย์ หากพบเชื้อเอชพีวี ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแพทย์ได้แต่เนิ่นๆ ในขณะที่หากผลตรวจออกมาไม่พบเชื้อ เอชพีวี ผู้ป่วยก็สามารถวางแผนการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ใหม่อีกครั้งในอีก 5 ปี ไม่ต้องจำเป็นต้องตรวจทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดี ที่แตกต่างจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเดิม”

ดร.ศุลีพร กล่าวเพิ่มเติม พร้อมย้ำว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ณ ขณะนี้ ยังไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่เป็นทางเลือกใหม่ที่มีให้บริการในโรงพยาบาลรัฐบาล และเอกชน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ และเลือกดำเนินการตามความต้องการและตามสิทธิ์การรักษาพยาบาลของตนเองได้

ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงเป้าหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของ สปสช. ในการกำจัดมะเร็งปากมดลูกให้หมดสิ้นในปัจจุบัน และในอนาคต รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ความครอบคลุม และกลุ่มประชาชน ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง ตลอดจนหากพบผู้ป่วย และมีการรักษา

“ปัจจุบัน สปสช. มีการบูรณาการโครงการรณรงค์การตรวจ คัดกรองมะเร็ง ปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ ให้กับผู้หญิงไทยอายุ 30-60 ปี ครอบคลุมทุกสิทธิ์ทั่วประเทศฟรี ซึ่งจัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายหน่วยบริการในพื้นที่ จากที่เคยใช้การตรวจด้วยเทคนิคแปปสเมียร์ (Pap smear) แต่ในปีนี้ก็ได้มีการปรับวิธีการตรวจใหม่โดยใช้เทคนิค เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ หรือการตรวจด้วยวิธีเจาะลึกระดับดีเอ็นเอเพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรมที่มีความแม่นยำและมีความไวที่สูงกว่า รวมทั้งทางเลือกใหม่ล่าสุดคือการตรวจแบบ เอชพีวี ดีเอ็นเอ แบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง จะสามารถทราบผลได้ภายใน 1 เดือน

ในปีที่ผ่านมาได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปีทั้งสิ้นกว่า 822,301 ราย โดยมะเร็งปากมดลูกมีโอกาสรักษาได้หากรับการดูแลในระยะเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิผลการตรวจคัดกรองและเป็นไปตามแนวทาง (Guideline) ฉบับปรับปรุงเดือนกันยายน 2561 ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย บอร์ด สปสช. จึงมีมติให้เพิ่ม “สิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี เอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์” เพื่อทดแทนวิธีแปป สเมียร์ (Pap smear) ทุก 5 ปี โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณรูปแบบจ่ายตามรายการบริการ (Fee schedule)

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเทคนิคเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ นั้นใช้งบประมาณเทียบเท่ากับการตรวจด้วยเทคนิคเดิม แต่ความยาก คือ จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายมาตรวจกันมากๆ ฉะนั้น ทางเลือกในการตรวจคัดกรองแบบเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองที่เพิ่มเข้ามานี้ รวมทั้ง การจัดให้มีหน่วยออกตรวจประชาชนในพื้นที่ และสิทธิ์หลักประกันสุขภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกในการเพิ่มการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ของประชาชน